โปรแกรม
:
แนวคิด
“การโดนหลอกหลอนคือการเลือกบางอย่างในห้วงขณะอันหมุนวนที่ทำให้ปัจจุบันสั่นไหว การโดนหลอกหลอน คือการที่เราถูกผูกโยงเข้ากับผลกระทบทาง ประวัติศาสตร์และสังคม”
—เอเวอรี กอร์ดอน, Ghostly Matters: Haunting and the Sociological Imagination, 2551
Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย มีจุดตั้งต้นจากสภาวะชะงักงันอันเกิดขึ้นจากความ ไม่สัมพันธ์กันของเวลากับพื้นที่ และความตึงเครียดของชีวิตร่วมสมัยซีรีส์วิดีโอและ ศิลปะการแสดงนี้จัดขึ้นทุกสามปี และได้พื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะใจกลางเมืองที่มี ประวัติความเป็นมาเก่าแก่มาเป็นภาพสะท้อนของพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน และเป็นอุปมา อุปมัยให้กับทัศนะอันแตกต่างหลากหลาย ที่พยายามจะนิยามเมืองที่ซึ่งความจริง และภาพลวงล้วนหลอกหลอนซ่อนสลับกันอยู่เป็นชั้นๆ ในผลงานต่างๆ ที่นำมาจัด แสดงนี้ ศิลปินและผู้ร่วมแสดงจากหลากสาขาได้นำเสนอแนวคิด ตัวตน และเรื่องราวซึ่งถูกทำให้เลือนหายไปโดยพัฒนาการที่กลืนกินความแตกต่างให้เหลือ
เพียงหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับในงานครั้งแรก Ghost ครั้งที่สองยังคงมีปี
พุทธศักราชเป็นส่วนหนึ่งของชื่องาน คือปีพุทธศักราช 2565 ขณะที่ชื่อรองเป็น
คำแปลจากประโยค “vivre sans temps mort” ถ้อยคำที่ถูกพ่นลงบนกำแพง
มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในปารีสเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2511 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะ
ร่วมของการต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อลัทธิบริโภคนิยมอย่างไม่อาจฟื้นตัว ทศวรรษที่ 1960 ในสังคมยุคหลังสงครามและการตระหนักรู้แบบ
ข้ามชาติเกี่ยวกับความน่าสะพรึงของสงครามเวียดนามที่ดำเนินอยู่ ได้เกิดกลุ่มก้อน
ประสบการณ์ขนาดมหึมาที่รวมเอาความเป็นมหรสพและโภคภัณฑ์นานามาสถาปนาขึ้นเป็นความจริงใหม่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยอำนาจนำของลัทธิทุนนิยมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ครึ่งศตวรรษต่อมา อำนาจเบ็ดเสร็จของการสร้างภาพแทนนี้ยังคงเกาะกุมเรา เราจะหลบหนีจากพลังที่กล่อมเราให้หลับใหลและลดทอนเราให้เหลือเพียงชีวิตอันกลวงเปล่าได้อย่างไร
ในฐานะประชากรและผลิตผลของลัทธิเสรีนิยมใหม่เรายิ่งพัวพันกับการถูกลิดรอนเวลาไปอย่างไปไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเวลาไร้ทิศทาง ใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบกับ ตำนานตกรุ่นและภูตผีของมันที่ยังคงสิงสู่ ใครคือผู้สืบทอดหรือผู้ถูกขับไล่ออก จากวิสัยทัศน์ต่อโลกในอุดมคติ Night for Day (2563) ภาพยนตร์อันมืดสลัว ของเอมิลี วาร์ดิล สำรวจคำถามเหล่านี้ผ่านการนำเสนอความสัมพันธ์ สมมติระหว่างคนสามคนจากสองยุคสมัยที่ติดกับอยู่ในรอยแยกของเวลา ในแต่ละด้านของช่วงเวลานั้น ตัวละครต่างมีชีวิตอยู่ในกระบวนทัศน์ทางเทคโนโลยี และการเมืองของตนเอง ที่ซึ่งความแตกต่างของพวกเขาส่องให้เห็นทางออก จากความเป็นจริงเบ็ดเสร็จที่ไร้ซึ่งการตั้งคำถาม เส้นทางในอนาคตและอัตวิสัย ของปัจเจกที่ไม่อาจเข้ากันได้ กลายเป็นจุดแตกหักในความสัมพันธ์ของพี่น้อง คู่หนึ่งเมื่อต้องเข้าไปพัฒนาโรงงานของครอบครัว ใน Mangosteen (2565) ผลงานดราม่าจิตวิทยาของตุลพบ แสนเจริญ งานชิ้นนี้สะท้อนภาพสังคมร่วมสมัย ที่ขับเคลื่อนด้วยความคับข้องใจ และแจกแจงให้เห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่าง แท้จริงเมื่อมนุษย์และอมนุษย์ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับระบบค่านิยมใหม่ได้ ผลงานใหม่ของนาตาชา ทอนเทย์ พูดถึงจักรวาลวิทยาของชนเผ่ามินาฮาซัน ในซูลาเวซีเหนือ อินโดนีเซีย ที่สร้างโลกทัศน์ทางเลือกขึ้นเพื่อก้าวข้ามประวัติศาสตร์ การกดขี่จากชาติตะวันตก ผสานรวมภาพสารคดีเข้ากับสุนทรียะดิจิทัล ทอนเทย์ นำเสนอภาพสังคมที่มอบอำนาจให้เพศหญิง และสืบสาวพงศาวลีพื้นถิ่น ย้อนกลับไปไกลกว่าช่วงเวลาของมนุษย์ มีเรียม เบนนานี่ วิพากษ์ภูมิทัศน์ของสื่อ ร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกและเนื้อหาภาพอื่นๆ เพื่อเก็บ ภาพขอบข่ายอำนาจของจินตนิยาย อารมณ์ขัน และเทคโนโลยี หนึ่งในงานวิพากษ์ ของศิลปินที่เป็นวาทกรรมตอบโต้ชิ้นสำคัญคือตอนสุดท้ายของไตรภาค Life on the CAPS (2565) ซึ่งว่าด้วยการที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านกลไกควบคุมของรัฐ ในค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะแคปส์ เป็นภาพสะท้อนประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และแนวปฏิบัติที่ กีดกันผู้อพยพที่เกิดขึ้นในโลกจริง
ระหว่างที่เราไล่ล่าคว้าสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็วและบ้าคลั่ง ความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว กันกับเวลาได้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองหยุดนิ่ง ในงานของเอิซเกอร์ คาร์ ตัวละครที่นิ่งเฉยถูกขังอยู่ในโทรทัศน์จอแบนขนาดใหญ่ นำเสนอภาพความเป็นจริงของชีวิตในแต่ละวันที่วนเวียนเหนื่อยหน่ายไม่รู้จบ บทพูดที่ผสมผสานประวัติศาสตร์ทางทัศนศิลป์และวรรณคดีของ DEATH ที่มีท่วงทำนองคลาริเน็ตอันวังเวงในงาน SNAKE CHARMER คลอเคลีย พยายามให้ความหมายกับเรือนร่างกลวงเปล่าที่พ่ายแพ้ต่อโรคร้ายที่หลอกหลอน ผลงานฉายบนเพดานของหลี่ ซวง สร้างจากจักรวาลโลกเสมือนจริงที่คลั่งไคล้ การบริโภคทางสายตาและการไหลบ่าของเนื้อหาอย่างรวดเร็วไม่รู้จบ เพื่อเน้นย้ำถึงมิติแห่งการลุ่มหลงในโลกสื่อโซเชียลมีเดีย ศิลปินผสานชีวิตร่วมสมัยเข้ากับปกรณัมจีนโบราณ ผลลัพธ์คืองานคอลลาจจากภาพต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในที่ซึ่งตัวตน เวลา และอสถานที่ ระเหิดหายไปในอากาศธาตุของการสื่อสารออนไลน์ จากผลงานที่ว่าด้วยสภาวะนิ่งงันสู่ผลงานที่ว่าด้วยการสำรวจสภาวะภายใน เจมส์ ริชาร์ดส์ใช้ระบบแสดงผลภาพและเทคโนโลยีการนำเสนอต่างๆ ใน Quality of Life: Living in the Radiant Cold (2565) สำรวจพื้นที่ภายในและสร้างพื้นที่ทางกายภาพที่ชวนให้รู้สึกอึดอัดผ่านการนิยามสิ่งที่เป็นด้วยสิ่งที่มันไม่ได้เป็น ความรู้สึกถึงข้อจำกัดนี้หลอมรวมเข้ากับวิกฤตในผลงาน The show is over (2563) โดยอู๋เจิง ร่วมด้วยทอช บาสโก้ พินิจพิจารณาบาดแผลในประวัติศาสตร์จากความรุนแรงและการกดขี่โดยรัฐ บทละครแห่งเรือนร่างและวัตถุต่างๆ ผสมผสานกันในรูปทรงต่างๆอย่างไม่รู้จบเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการประกอบสร้างนี้ กระตุ้นประสบการณ์ที่ยากจะถ่ายทอดของการไร้ตัวตนและการพลัดถิ่น อันเป็นผลจากภูตผีของการเหยียดสีผิวที่เข้าครอบงำสิงสู่บรรดาเรือนร่างที่ถูกทำให้ไร้วิญญาณมาหลายชั่วอายุคน
ดังที่อัคบาร์ อับบาส ได้เขียนไว้ “ยิ่งพื้นที่เป็นนามธรรมเท่าใด ภาพก็จะยิ่งสำคัญขึ้นเท่านั้น (กลุ่มสถานการณ์นิยมก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้เช่นกัน) และภาพที่เห็นยิ่งมีอิทธิพลในฐานะรูปแบบ […] หากการสูญหายเป็นปัญหาสำหรับการนำเสนอภาพแทน มันก็เป็นปัญหาสำหรับการนำเสนอตนเองเช่นกัน […] คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้นกับอัตวิสัยของเราภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว” ส่วนหนึ่งของผลงานที่จัดแสดงในครั้งนี้รวบรวมภาพที่หลากหลายและวิธีการที่ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบางสิ่งและกระบวนการสร้างตัวตนนั้นปรากฏเกี่ยวพันกับสัญญะและหมุดหมายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะถูกหล่อหลอมขึ้นใหม่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานเหล่านี้ตามรอยการมีอยู่ของภาพลวงและความแปลกแยกของผู้ที่อยู่ไม่เป็นสุขด้วยเรือนร่างและอุดมการณ์อันเลือนรางที่ถูกบังคับให้ต้องละออกจากบริบทของมัน เข้าครอบครองพื้นที่ว่างที่อุบัติขึ้นจากภาพที่ขัดแย้งกันในเมืองไร้รูปลักษณ์ Uncut (2565) ผลงานจัดวางเฉพาะที่จากเสียงซึ่งเข้าแทรกแซงพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมของพาน ไต้จิ้ง นำเสนอความพลุ่งพล่านท่ามกลางการเผชิญหน้ากับฉากที่ดูไม่เป็นมิตรของกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็ให้ความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงผ่านประสบการณ์สดที่ผู้ชมได้สัมผัสร่วมกัน อรวรรณ อรุณรักษ์ สำรวจเมืองในฐานะพื้นที่แห่งการเอาตัวรอดและความมุ่งมาดปรารถนา การเดินพร้อมเสียงเล่าเรื่องของศิลปินปลุกร่างกายให้กลายเป็นคลังข้อมูล เก็บรวมผัสสะและความรู้เพื่อสำรวจพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อนำเสนอสถานที่และผู้คนต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตวัยเด็กของศิลปินคนนี้ เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานถึงความทรงจำที่ยังหลงเหลืออยู่หรือสูญหายไปในวัฏจักรชีวิตในเมือง ในงานวีอาร์ Phantom Banquet (2562–63) หลับซีหล่ำสำรวจรูปทรงทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ในฐานะแคปซูลกาลเวลา ศิลปินผู้เป็นลูกหลานชาวจีนฮ่องกงที่ทำกิจการร้านอาหารจีนในสวีเดนเล่าเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรพบุรุษ ร้านอาหารจีนกลายเป็นประตูเชื่อมต่อไปยังรากเหง้ามรดกทางวัฒนธรรมอันเลือนรางของศิลปินภายในช่องว่างของความไกลห่างหากก็คุ้นเคย ผลงาน IF REVOLUTION IS A SICKNESS (2564) ของ ไดแอน เซเวอริน เหวียน แสดงให้เห็นถึงซากนามธรรมของคอมมิวนิสต์ที่ยังปรากฏอยู่อย่างย้อนแย้งกับภูมิทัศน์เมืองวอร์ซอที่ทึบทะมึน เด็กสาวกำพร้าเชื้อสายโปลิช-เวียดนามรับมือกับอิทธิพลของกระแสเค-ป๊อป ซอฟต์พาวเวอร์ และควันหลงจากยุคสงครามเย็นเพื่อค้นหาตัวตนและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับโลกอันแปลกแยกที่เต็มไปด้วยภาพและการเหมารวม
หลายต่อหลายครั้ง การนำเสนอภาพสถานที่และอัตวิสัยมักเกี่ยวพันกับการเลือนหายของสถานที่นั้นๆ ส่วนหนึ่งของการศึกษาเกี่ยวกับการพนันในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมร่วมสมัยคือการสำรวจพื้นที่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในอุตสาหกรรมเกมของรีไวทัล โคเฮน และตูร์ ฟาน เบเลน ในผลงาน The Odds (ภาค 1) (2562) ศิลปินทั้งสองสำรวจบ่อนคาสิโนสองแห่ง ได้แก่ เวเนเชี่ยน และ ลอนดอนเนอร์ ซึ่งจำลองมาจากเวนิสและลอนดอน และห้องเล่นบิงโกในโบสถ์เก่า พวกเขาค้นหาร่องรอยของอิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมที่มีผลต่อผู้ที่ขายเรือนร่างของตนเพื่อผลประโยชน์ ซึ่งต่างติดอยู่ในภาพมายาอันเปราะบาง ในขณะเดียวกัน Heavens (2564) งานจัดวางที่เชื้อเชิญผู้ชมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเป็นดั่งขั้วตรงข้ามของการมองทุกอย่างเป็นสินค้า ชวนหลีกหนีเข้าไปสู่ประสบการณ์ภายในของจักรวาลตั้งแต่การถือกำเนิดของเทคโนโลยีเลนส์และการมองเห็น การรวมกลุ่มใน Eating an Apple While Lucid Dreaming (2565) โคคิ ทานากะ ขยายประสบการณ์ร่วมของผู้คนด้วยการเชื้อเชิญผู้เข้าร่วมมารวมตัวกันทำกิจกรรมธรรมดาๆ ร่วมกันสาม กิจกรรมจากย่ำค่ำถึงย่ำรุ่ง ออกสำรวจอัตวิสัยของปัจเจกแต่ละคน รวมถึงความฝันและประวัติศาสตร์อันคลุมเครือของกรุงเทพฯ การร่วมรื้อถอนสภาวะปกตินี้ช่วยรื้อฟื้นอำนาจในตัวเองของปัจเจก นำไปสู่วิสัยทัศน์ร่วมต่ออนาคตเพื่อหนีออกจากวงจรการเมืองในปัจจุบัน ผลงาน Brine Lake (A New Body) (2563) ของเสิ่นซิน เล่าเรื่องราวของมนุษย์และตัวละครที่ไม่ปรากฏร่างในโรงงานรีไซเคิลไอโอดีนผ่านสามภาษา เพื่อพูดถึงเรื่องเล่าทั้งในจินตนาการและความเป็นจริงของการที่ชาวเกาหลีถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานสู่เอเชียตะวันออกและรัสเซีย บทสนทนาดำเนินไปในพื้นที่ซึ่งไม่ได้เป็นที่ใดที่หนึ่ง ข้ามผ่านพื้นที่อันไร้เสถียรภาพของการแปลความและการกลายสภาพ ที่ซึ่งการเมืองของภาษา ภาวะไร้รัฐ และการถูกบังคับให้ต้องพลัดพราก กลับกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้เมื่อปราศจากบ้านเกิดเมืองนอน ความน่าจะเป็นที่ไม่น่าเป็นไปได้ของจุดรวมสายตาถูกอธิบายออกมาอย่างไม่เต็มปากในการแสดงสดในรูปแบบการบรรยาย Probable Title: Zero Probability (2555) โดย ราบี มารัวฮ์ และ ฮิโตะ ชไตเยิร์ล ศิลปินทั้งสองมองประเด็นดังกล่าวผ่านหลากหลายศาสตร์ ทั้งศิลปะ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และฟิสิกส์ เพื่อสำรวจโครงสร้างของระบบระเบียบและการนำเสนอภาพซึ่งปัจเจกอาจสูญหาย กระตุ้นให้เราตั้งคำถามว่าเป็นได้ไหมว่าจะมีพื้นที่ที่ปรากฏอยู่นอกระบบโครงสร้างเหล่านี้
ระบอบอำนาจภายใต้ความเป็นสมัยใหม่ การนำเสนอภาพ และพัฒนาการที่ผลักประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เกิดขึ้นผ่านการผลักและดันชุมชนชายขอบออกไปจากการถูกมองเห็นในพื้นที่การเมือง ไล่ตั้งแต่ใจกลางเมืองเรื่อยไปจนถึงปริมณฑลรอบนอก กระบวนดังกล่าวส่งผลอันไม่อาจลบเลือนต่อพื้นที่ชนบทไทย ที่ซึ่งผู้คนยังต้องต่อสู้ดิ้นรนสร้างเรื่องเล่าใหม่ในอนาคต สู่-ขวัญ2022 ผลงานใหม่ของผู้กำกับชาวอีสาน ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ว่าด้วยพิธีสู่ขวัญ พิธีพื้นถิ่นเพื่อเชิญขวัญที่อยู่กับมนุษย์ทุกคนให้กลับมาสู่เจ้าของหลังจากก่อนหน้านี้ได้หนีหายไปจากร่างกายที่ตื่นกลัว ศิลปินเล่นกับแสงและเงาเพื่อสื่อความเชิงเปรียบเปรย ภาพยนตร์ของศิลปินสะท้อนและและทวงคืนสิทธิในเรื่องเล่าผ่านบทเพลงหมอลำของภาคอีสานและลาว และตัวตนอันหลากหลายซึ่งเคยถูกผลักให้อยู่ในเงามืดโดยอำนาจนำจากศูนย์กลาง เช่นเดียวกับฉันทนา ทิพย์ประชาติ ศิลปินคนอื่นๆ ในงาน Ghost 2565 ได้สร้างพื้นที่สำหรับโลกทัศน์ทางเลือก เพื่อให้จินตนาการกลับมาเป็นพลังหลักในการใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ ที่ปลดแอกจากกรอบคิดทุนนิยมซึ่งกำลังครอบงำเราอยู่ เราต้องการค้นหาหลักยึดใหม่เพื่อหาทางเดินต่อไปบนเงื่อนไขของเราเอง และงานที่จัดแสดงทั้งหมดในครั้งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการทวงคืนพื้นที่และเวลาที่ถูกช่วงชิงไป รวมถึงปลุกโลกอุดมคติที่เคยหลับใหลให้กลับตื่นฟื้นขึ้นอีกครั้ง